นักเรียนบ้านนอก เข้ากรุงฯ

จากหัวข้อที่ตั้งไว้ ผู้อ่านคงจะงงว่า นี่เป็นเรื่องนิยายน้ำเน่าหรือเปล่านะ จริง ๆ แล้วมิใช่ มิใช่นิยายในลักษณะ ไอ้ขวัญ อีเรียม ที่ไอ้ขวัญต้องไปตามอีเรียมถึงเมือง บางกอก และก็มิใช่เรื่องในทำนอง มนต์รักลูกทุ่ง ที่ พี่คร้าว มาตามหา อีทองกวาว ที่กรุงเทพฯ แต่เป็นเพียงการบอกเล่าประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เดินทางจากภูมิลำเนาจากจังหวัดเชียงใหม่ไปศึกษาในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2525 นับย้อนหลังได้มากกว่ายี่สิบปีแล้ว

ผู้เขียนเป็นบรรณารักษ์ ทำงานในห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบปริญญาตรีในสาขาบรรณารักษศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2519 จบปุ๊บทำงานปั๊บที่สำนักหอสมุด ม.ช. ทำงานมาระยะหนึ่ง ในตำแหน่งบรรณารักษ์บริการตอบคำถามและช่วยการค้นคว้า ก็มีความสุขกับงานพอสมควร โชคดีที่พี่ ๆ บรรณารักษ์ โดยเฉพาะพี่สมร (อาจารย์สมร จิตราทร) ไปทราบมาว่า ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาฯ เขามีการสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโท ที่ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาฯ และได้มาคะยั้นคะยอให้ผู้เขียนไปลองสอบให้ได้ เผื่อว่าจะได้มีวิชาความรู้เพิ่มขึ้น จริง ๆ เราก็สองจิตสองใจ แต่เมื่อพี่เขาอุตส่าห์แนะนำ เราก็รับปากเขาว่าจะลองไปสอบ ได้ยื่นใบสมัครเป็นวันสุดท้าย โดยส่งไปทางไปรษณีย์ จากนั้นก็รอให้เขาติดต่อกลับ ได้เข้าทำการสอบ และสอบได้ในที่สุด ประเด็นสำคัญที่สุดของปีนี้คือ ปี 2525 เป็นปีที่กรุงเทพฯ ครบรอบ 200 ปีพอดี และเราโชคดีมากที่ได้อ่านข่าวและบทความเกี่ยวกับกรุงเทพรัตนโกสิทร์ฯ ครบ 200 ปี เป็นภาษาอังกฤษ (Bangkok Bicentennial 1982) (เพราะภาควิชาเขาให้เรียงความเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษพอดี เพื่อตัดสินว่าใครจะมีทักษะทางภาษาอังกฤษพอที่จะเรียนต่อในระดับปริญญาโทได้บ้าง) ซึ่งผู้เขียนก็พอมีทักษะที่ว่าอยู่บ้าง จึงได้เข้าเรียนตามที่พี่เขาแนะนำ


ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อเราสามารถเข้าเรียนต่อที่จุฬาฯ ได้แล้ว แล้วเราจะไปพักที่ไหน ไม่รู้จักใครสักคน ญาติพี่น้องที่กรุงเทพฯ ก็ไม่มี จะทำอย่างไรดี ในปี 2525 นั้น หอพักในกรุงเทพฯ มีไม่มากนัก ที่มีก็มีราคาแพง ที่สำคัญคือ เราเป็น คนบ้านนอก เราจะมาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อย่างไร จะอยู่ที่ไหน จะไปจุฬาฯ ได้อย่างไร ก็มีความปริวิตกอยู่พอประมาณ

อย่างไรก็ดี ต้องขอขอบคุณ อาจารย์กรรณิการ์ ลินพิศาล บรรณารักษ์อาวุโส ที่แนะนำให้ลองไปสมัครเข้าพักที่ หอพักกลางนักเรียนคริสเตียน (สนค) ซึ่งอยู่บริเวณเชิงสะพานหัวช้าง และอยู่ไม่ไกลจากจุฬาฯ มากนัก พอได้เวลารายงานตัวและจะต้องเข้ามาเรียนจริง ๆ ผู้เขียนจึงลองมาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของสนค เขาบอกว่า จริง ๆ แล้ว เขาให้สิทธินักเรียนนักศึกษาที่เป็นคริสเตียนได้เข้าพักก่อน หากมีโควต้าเหลือจึงจะจัดสรรให้กับนักเรียนนักศึกษาที่นับถือศาสนาอื่นได้เข้าพัก ที่สำคัญคือ คนที่จะเข้าพักทุกคนต้องเป็นคนเรียบร้อย มีกิริยาวาจาดี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ (อาจมีบ้าง แต่ไม่ควรเสพมากเกินสมควร) และเขาก็เรียกไปสัมภาษณ์ ใช้เวลาประมาณเกือบชั่วโมง และเขาบอกว่า ค่อยมาดูคำตอบ เขาจะเอารายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นบอร์ด (เหมือนการสอบเอ็นฯ ไม่มีผิด) และโชคดีที่เราก็เป็นคนเรียบร้อยอยู่ จึงได้เข้าพัก ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ดังกล่าว (ตอนหลังพวกเราพูดกันง่าย ๆ ว่า หอพักคริสเตียน หรือ สนค มากกว่าที่จะเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน)

หลังจากเช็คอินเข้ามาในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน หรือสนค แล้ว นักเรียนบ้านนอกจำเป็นต้องแสวงหาความรู้เกี่ยวกับทำเลที่ตั้ง สถานที่ต่าง ๆ ที่ควรทราบ โดยอาศัยสนคเป็นศูนย์กลาง ระยะแรกจึงมีทั้งการสอบถามจากคนที่อยู่ในสนคเอง ว่าถ้าไปจุฬาฯ ไปอนุสาวรีย์ชัยฯ ประตูน้ำ สนามหลวง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ ฯลฯ จะไปอย่างไร ซึ่งเขาก็บอกเท่าที่จะตอบได้ สิ่งที่สำคัญคือ นักเรียนบ้านนอกเช่นเราต้องไปนั่นไปนี่ให้ชำนาญ ส่วนใหญ่ก็อาศัยรถเมล์ สมัยนั้น (พ.ศ. 2525-2527) ก็ 1 บาท 2 บาท ไม่เคยจ่ายเกิน 5 บาท สักที และบางครั้งก็ต้องลองเดิน เช่นเดินจากสนคไปอนุสาวรีย์ชัยฯ จากสนคไปประตูน้ำ เป็นต้น จนรู้ว่าอะไรอยู่ที่ไหน และที่สำคัญคือจากสนคไปจุฬาฯ ทั้งฟากคณะอักษรฯ หรือฟากคณะครุฯ ก็จะเดินไปเป็นส่วนใหญ่ นาน ๆ เข้าก็เริ่มชำนาญ อะไร อยู่ที่ไหน ก็ไม่ยากสำหรับนักเรียนบ้านนอกอีกต่อไป
การเรียนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่จุฬาฯ นี่ นับว่าเป็นการพลิกผันจากนักเรียนบ้านนอก เป็นนักเรียนชาวกรุงโดยแท้จริง เพราะจุฬาฯ นับว่าเป็นจุดศูนย์กลางจุดหนึ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จัก มีคนบอกว่าถ้าไม่รู้ว่าจุฬาฯ อยู่ไหน ก็ให้สังเกตว่า ป้ายรถเมล์ป้ายไหนที่มีคนลง (หรือขึ้น) มากที่สุด ที่นั่นละจุฬาฯ และก็ได้ค้นพบว่าที่เขาพูดนั้นเป็นเรื่องจริง (ในภายหลังอาจรวมทั้งห้างมาบุญครองด้วย เพราะที่มาบุญครองนี่ คนเขาจะหลั่งไหลกันมาตลอดเวลา)

นอกจากสังเกตจากการขึ้น-ลงของผู้คน ที่ทำให้เรารู้ว่าตรงนี้ถึงจุฬาฯ แล้วนะ ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้นักเรียนบ้านนอกเข้ากรุงใหม่ ๆ รู้ว่า เดี๋ยวจะถึงจุฬาฯ แล้ว นั่นก็คือกำแพงหินสีขาวยาว ๆ คือเวลาที่เราอยู่บนรถเมล์ (เช่นสาย 29 ฯลฯ) เมื่อวิ่งผ่านสะพานหัวช้างแล้ว อีกประเดี๋ยวจะเห็นกำแพงหินสีขาวขนาดยาวอยู่ทางซ้ายมือ ซึ่งเป็นกำแพงของพระตำหนักวังสระปทุม (ที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีตลอดพระชนมายุของพระองค์ ปัจจุบันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี) เขาบอกว่าให้พวกบ้านนอกยืนขึ้น และเตรียมลง เพราะถัดจากกำแพงนี้ไป ก็จะเป็นศูนย์การค้าสยาม (เมื่อก่อนยังไม่มีตึก Discovery นะ) สี่แยกปทุมวัน วิทยาลัยปทุมวัน (ในสมัยนั้น) ต่อด้วยโรงเรียนเตรียมฯ แล้วก็จุฬาฯ ซึ่งมีสองฝั่ง คือฝั่งคณะอักษรศาสตร์ และฝั่งบัณฑิตวิทยาลัย (ปี 2525 อาคารหอสมุดกลางยังไม่ได้สร้าง มาสร้างในภายหลัง) ดังนั้นจึงสมควรที่จะสำนึกบุญคุณกำแพงหินสีขาว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นที่หมายสำคัญ (Landmark) สำหรับคนหลาย ๆ คน โดยเฉพาะคนบ้านนอก

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นนักเรียนบ้านนอก คนบ้านนอก คนต่างจังหวัด หรือคนป่าคนดอย สิ่งที่ต้องพึงระลึกก็คือ เราจะต้องเป็นคนที่มีสติ ทำตัวให้นิ่ง ไม่ทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม รวมทั้งต้องไม่เป็นคนซื่อ ที่เรียกว่าซื่อจนเซ่อ คือเวลาใครจะมาหา จะมาทัก เราก็ทำตัวเป็นเสมือนคนกรุงหรือคนปกติ ค่อยพูดค่อยจา ไม่ควรพูดจาให้เขารู้ว่าเรามาจากต่างจังหวัด ไม่รู้เรื่องรู้ราว ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งคนประเภทนี้แหละที่จะเป็นเหยื่อแก่คนโกง หรือคนจำพวกสิบแปดมงกุฎ ซึ่งอาจหลอกเอาเงิน เอาของ หรือพาไปทำร้าย เราต้องคิดเสมอว่า “รู้หน้า ไม่รู้ใจ” อย่าไปหลงเชื่อใครง่าย ๆ เดี๋ยวจะเข้าตำราว่า “บ้านนอกเข้ากรุง” อย่างที่หลาย ๆ คนชอบปรามาสไว้

วิธีการที่จะป้องกันมิให้คนไม่ดีจะมาหลอกก็คือ เราต้องศึกษา ค้นคว้า หรือสอบถามมาล่วงหน้า สอบถามเขาบ้างตามความจำเป็น แต่ต้องเลือกดูคนที่จะถามให้ดี รู้จักพึงพาตนเองมาก ๆ เช่น การเดินสำรวจเส้นทางต่าง ๆ ด้วยตนเอง การไปในสถานที่มีคนมาก ๆ ไม่ไปในที่เปลี่ยว ๆ คนเดียว เวลาขึ้นรถเมล์อาจขึ้นผิด ๆ ถูก ๆ บ้างในระยะแรก ๆ ไม่ต้องตกใจ เพราะถ้าเราขึ้นรถผิดสาย หรือผิดทาง ให้นั่งไปจนสุดสาย และเราสามารถย้อนกลับมาได้อีก จนถึงจุดที่เราขึ้นรถครั้งแรก ถ้าจะให้ดีอาจสอบถามกระเป๋ารถหรือคนขับรถถึงจุดหมายปลายทางและเบอร์รถที่ถูกต้อง เราก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับรถเมล์อีกมากมาย ทำตัวให้สนุก แล้วเราจะรู้ว่า การขึ้นรถเมล์ในกรุงเทพฯ นี่ ก็สนุกไม่เลว (ยกเว้นบางช่วงรถเมล์แน่น ๆ ก็น่าอึดอัดอยู่บ้าง แต่ก็เป็นรสชาติหนึ่งของการอยู่เมืองกรุงนะนี่)

สำหรับคนที่มีเงินมีทอง และไม่ชอบความลำบาก การเดินทางไปไหนมาไหนในกรุงเทพฯ ง่ายนิดเดียว เพียงแต่เรียกแท็กซี่ แล้วคุณจะไปไหนก็ได้ในกรุงเทพฯ (แต่ประสบการณ์ชีวิตแบบคนเดินดิน แบบคนบ้านนอก ก็จะน้อยไปนะ !)

2 thoughts on “นักเรียนบ้านนอก เข้ากรุงฯ

  1. ผมก็เด็ก “หอกลาง” เหมือนกัน แต่อยู่ที่นี่เมื่อประมาณปี 2508 – 2512 ได้ไปอยู่ที่นี่ตามคำแนะนำและรับรองของ ดร.สืบแสง พรหมบุญ รุ่นพี่ที่มาจากอำเภอและจังหวัดเดียวกัน คืออำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก สมัยนั้นอาจารย์เพิ่งจบจากจุฬา ฯ และกำลังเตรียมตัวไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา คิดว่าเรามีประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงกัน เพียงแต่คนละช่วงเวลาเท่านั้นนะครับ

ใส่ความเห็น