สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน

สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า สนค ตั้งอยู่เลขที่ 238/2 ถ. พญาไท แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 เป็นหอพักที่มิได้มีหน้าที่เป็นหอพักแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นศูนย์กลางของการอบรมบ่มนิสัยเด็กและเยาวชนของชาติด้วย

บางคนคงตั้งข้อสงสัยว่า สนค นี่จะเป็นศูนย์รวมของเด็กและเยาวชนคริสเตียนไทยเท่านั้นหรือเปล่า จริง ๆ หาใช่ไม่ เพราะตามเจตนารมณ์ดังเดิมนั้น ศูนย์นี้จะตอบสนองพันธกิจอย่างหนึ่งคือการพัฒนาเยาวชนไทย เนื่องจากทำเลที่ตั้งของสนค อยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ ดังนั้น การจัดทำเป็น “สำนักกลาง” หรือ “ศูนย์กลาง” สำหรับส่งเสริมเยาวชนไทยให้ได้รับศึกษาเล่าเรียน ทั้งระดับที่ต่ำกว่าปริญญา และระดับอุดมศึกษา จึงเป็นเรื่องที่น่ายกย่องยิ่ง

ภารกิจที่สำคัญของสนค ส่วนหนึ่งอาจเป็นการส่งเสริมสนันสนุนเด็กและเยาวชนคริสเตียนให้มีโอกาสในการเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น ตามความสามารถที่ตนจะสามารถเรียนได้ และออกไปเป็นผู้นำด้านความรู้และด้านศาสนาในท้องถิ่นของเยาวชนนั้น ๆ นั่นก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะองค์กรใด ๆ ก็ต้องมีเป้าประสงค์ของตน ๆ อยู่ แต่สนค ก็เปิดโอกาสให้เยาวชนส่วนหนึ่งที่มิใช่คริสตศาสนิกชน มีโอกาสได้พักอาศัย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำกิจกรรมทางการศึกษาเรียนรู้ใน “เมืองหลวง” อยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน


สนค เขามีระเบียบวินัยที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น ตอนเช้า เด็ก ๆ นักศึกษาต้องมารับประทานอาหารร่วมกันในเวลา 7.00 น. และตอนเย็นก็ต้องมารับประทานอาหารร่วมกันอีกครั้ง ในเวลา 18.30 น. ก่อนรับประทานอาหารต้องมีการ “ขอบคุณพระเจ้า” ในการที่ทรงประทานให้มีข้าว-มีน้ำ ได้รับประทานและดื่มกิน [ซึ่งคนที่จะนำกล่าว ก็จะเป็นนักศึกษาคนใดคนหนึ่ง อาจรวมทั้งนักศึกษาทั่วไปที่ไม่ได้นับถือคริสต์ด้วยก็ได้ (ถ้าสามารถกล่าวได้)] ตอนเย็นหลังรับประทานอาหารแล้ว ก็จะพากันไปนมัสการพระเจ้าในโบสถ์ (ก็ที่ออฟฟิศของสนค นั่นแหละ) นอกจากเด็ก ๆ คริสเตียนแล้ว เด็กพุทธ และเด็กศาสนาอื่น ๆ ก็สามารถมาสังเกตการณ์ และร่วมนมัสการพระเจ้าด้วย มีสิ่งที่น่าประทับใจคือในแต่ละวัน เขาจะมอบหมายให้เด็กคริสเตียนคนหนึ่งเตรียมตัวที่จะเป็นผู้นำสวด รวมทั้งนำเสนอข้อคิดด้านใดด้านหนึ่ง (จากหัวข้อในพระคัมภีร์) และใช้ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันมาเป็นตัวอย่างในการบรรยาย ซึ่งเด็ก ๆ เขาก็ทำได้ดีทีเดียว จึงเกิดข้อคิดว่า ผู้ใหญ่ฝ่ายพุทธเรา ได้ให้โอกาสเด็ก ๆ ได้ฝึกฝนหลักการทางด้านพุทธศาสนาบ้างหรือไม่ และเด็ก ๆ ได้มีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่ในการสืบทอดและจรรโลงพระพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด (ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ ก็อาจนำไปพิจารณาด้วยก็ดีนะครับ)

พอบรรยายเสร็จ (หรืออาจจะเรียกว่าเทศนาเสร็จ) เขาก็จะสวดสรรเสริญด้วยบทเพลงเพราะ ๆ หลาย ๆ เพลง ยิ่งใกล้ช่วงเทศกาลคริสตมาสด้วยแล้ว ทุกคนจะชอบเข้าโบสถ์เพื่อฝึกซ้อมเพลงสวดกันขนานใหญ่ และจะตั้งตารอ “เซเรเนด” หรือการพากันไปร้องเพลงตามบ้านชาวคริสต์ที่ต่าง ๆ เป็นที่สนุกสนาน และเจ้าบ้านก็จะเตรียมอาหารการกินมากมายแก่แขก (หรือทูตสวรรค์) ด้วยความยินดีปรีดายิ่ง

พอหมดเวลาเข้าโบสถ์ ก็จะได้เวลาตามอัธยาศัย ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เขาจะมีกิจกรรมหลากหลาย บางคนจะไปดูข่าวทีวีร่วมกัน และจะร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมือง ทั้งข่าวเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทั้งของเมืองไทยและต่างประเทศ บางคนจะไปอ่านหนังสือพิมพ์ เข้าห้องสมุด ทำการบ้าน พูดคุยกัน และบางคนที่มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ถวิล (ผู้อำนวยการสนค สมัยนั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ควบคุมดูแลกิจการหอพักชาย หอพักหญิง แล้ว ยังมีหน้าที่อบรมศีลธรรมจรรยา ดูแลความประพฤติของนักศึกษาทุกคนในกำกับ ให้เป็นคนดี คนเรียบร้อย เป็นเหมือนอาจารย์ใหญ่และผู้ปกครองในเวลาเดียวกัน) เช่น บางคนเป็นโอเปอเรเตอร์คอยประกาศเสียงตามสาย เพื่อตามตัวนักศึกษา หากมีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องจากข้างนอกมาหา หรือมารับโทรศัพท์ รวมทั้งประกาศข่าวด่วน ข่าวร้าย หรือข่าวฉุกเฉินอื่น ๆ บางคนมีหน้าที่ไปดูแลห้องสมุด หรืองานอื่น ๆ แล้วแต่ผู้อำนวยการหรือ Staff มอบหมาย (ในการนี้ เขาจะมีค่าตอบแทนให้แก่นักศึกษาด้วย เหมือนกับเป็นค่าโอที ซึ่งเหมาะกับนักศึกษาที่ยากจนหรือมีรายได้น้อย)

ออฟฟิศจะปิดประมาณ 4 ทุ่ม ดังนั้น นักศึกษาทุกคนต้องออกจากออฟฟิศและกลับขึ้นห้องพักทั้งหมด ใครเอ้อระเหยอาจถูกเพ่งเล็งได้ ว่า ไม่เป็นพลเมืองที่ดี ของชุมชนชาวหอ ทีนี้ใครจะอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ท่องหนังสือสอบ หรืออื่นใด ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไป ไม่ว่ากัน เพียงแต่ว่า อย่าทำตัวให้เป็นที่เดือดร้อนของคนอื่นก็แล้วกัน

มีครั้งหนึ่ง มีน้องนักศึกษาสาว (แสนสวย) ออกไปข้างนอกกับเพื่อน (ไม่แน่ใจว่าจะเป็นกิ๊กหรือเปล่า?) เขากลับจาก “ข้างนอก” เกินเวลา 4 ทุ่ม จึงถูกอาจารย์เกศิณี แม่บ้านสนค เรียกมาอบรมเข้ม และต้องได้รับโทษคือจะถูกกักกันมิให้ออกไปนอกสนค หลังรับประทานอาหารเย็นแล้ว เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งน้องเขาต้องยอมรับโดยดุษฎี (เพราะจริง ๆ แล้ว เขาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของคนอื่น เพราะเป็นเด็กที่ได้รับการคัดตัวจากสนค ว่าจะเป็นผู้นำยุวชนคริสเตียนที่เคร่งครัดระดับแนวหน้าของสนค คนหนึ่ง) ถ้ามอง ๆ ดูในปัจจุบัน เด็กสมัยใหม่อาจบอกว่าเป็นวิธีการที่คร่ำครึ ล้าสมัย ไม่ทันยุคสมัยแล้ว แต่หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า การปฏิบัติตัวของเด็กและเยาวชน ไม่ว่ายุคใด สมัยใด วิธีการแสดงออกของเยาวชนจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ อยากรู้ อยากเห็น อยากลอง แต่ลองแล้วผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หามีใครคำนึงถึงไม่ ดังนั้น การทำให้เยาวชนมีระเบียบวินัยและรู้จักหน้าที่แห่งตน จึงน่าจะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญด้วย

ที่สนค เป็นแหล่งหนึ่งที่มีคนรู้จักทั่วไป เพราะเป็นศูนย์รวมที่นักวิชาการสามารถมาจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการกลุ่มเล็ก ๆ ได้ อดีตเคยทราบว่าม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านก็เคยมาพูดที่นี่ มีนักการศึกษา นักกฎหมาย นักการเมือง นักศิลปะ ฯลฯ มาใช้บริการอยู่เป็นระยะ ดังนั้นที่สนค นี่ จึงมิได้ผูกขาดอยู่ที่การเผยแพร่ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่มีบทบาทในการรับใช้ชุมชนและสังคมอยู่ไม่น้อยทีเดียว

สนค มีการส่งเสริมการจัดกิจกรรม หรือเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของชุมชนอย่างหลากหลาย อาทิเช่น ในวันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2551 เวลา 13.30-16.30 น. สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย และคณะบุรุษ คริสตจักรวัฒนา ได้จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ จริยธรรมและคุณธรรมในการเมืองภาคประชาชน มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย อาจารย์วิทยากร เชียงกูล อาจารย์นิติ ฮาซัน ผศ. ดร. วิทวัส คงคากุล และ มล. จตุรพิธ ชมพูนุท มี รศ. ดร. มานวิภา อินทรทัต เป็นผู้ดำเนินรายการ หรือในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ประเทศไทย) คณะกรรมการสมานฉันประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day) โดยเน้นเกี่ยวกับ เสรีภาพในการเดินทาง (Travel with Freedom) เป็นต้น

สิ่งที่น่าสนใจของสนค อีกอย่างหนึ่งก็คือ ตรงบริเวณห้องโถงในออฟฟิศ ห้องประชุม ห้องอาหาร และผนังหอพัก มักจะประดับไปด้วยจิตรกรรมหรือภาพวาดของศิลปินชื่อดังของประเทศไทย เช่น อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี จิตรกร ช่างเขียนรูป แห่งดอยสูงเชียงราย เป็นต้น อาจารย์ถวิลย์มักจะเรียกอาจารย์ถวัลย์ว่า “อ้ายหวัน อ้ายหวัน” ตลอดเวลา เพราะเป็นคนเชียงรายด้วยกัน และเป็นเพื่อนกัน ผู้เขียนเคยได้ฟังบรรยายของอาจารย์ถวัลย์อยู่คราวหนึ่งในห้องประชุมสนค อาจารย์พูดจาเป็นกันเองและติดตลก รวมทั้งคุยให้ฟังว่า “ดอยทั้งดอยเป็นของเฮาทั้งนั้น” “ใครไม่มีที่อยู่ไปอยู่กับผมได้ จะจองดอยลูกไหน ได้ทั้งนั้น” จริง ๆ อาจหมายถึงว่า ในฐานะที่เป็นคนไทย ป่าไม้ ใบหญ้า และภูเขาทุกแห่ง คนไทยทุกคนมีสิทธิเป็นเจ้าของ คือต้องรู้จักสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเราไว้ให้ดีที่สุด

ตอนนี้จึงไม่ทราบว่าผลงานชั้นเอกของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี หลาย ๆ ชิ้น จะยังมีอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ดี ช่วงที่ผู้เขียนพำนัก ณ หอพักแห่งนี้ ผู้เขียนได้เสพผลงานศิลปะดัง ๆ เหล่านี้อยู่ตลอดเวลาทีเดียว

10 thoughts on “สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน

  1. ขอบคุณพระเจ้าสำหรับหอพักคริสเตียนแห่งนี้ที่ได้มอบพระพรมากมายแก่นักเรียนคริสเตียนและนักเรียนอื่น ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้ามาพักอาศัยด้วยความปลอดภัยทั้งด้านกายและจิตวิญญาณในระหว่างศึกษา

  2. ขอบคุณพระเจ้าสำหรับความรักที่ให้กับเราทุกคนค่ะ ดิฉันอยากทราบว่าที่ สนค ได้อนุญาตให้มีการจัดค่ายคริสเตียนไหมคะ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ อยากทราบรายละเอียดค่ะ
    ขอบคุณค่ะ พระเจ้าอวยพร

    เยาวะเรศ

    • เรียน คุณเยาวะเรศ

      ผมได้สอบถามไปที่ สนค แล้ว เขาบอกว่าไม่มีโครงการจัดค่ายคริสเตียนสำหรับคนนอกนะครับ เท่าที่ทราบในแต่ละปี เขาจะพานักศึกษาทั้งหมดไปออกค่ายที่เรียกว่า “Retreat” เฉพาะนักศึกษาและบุคลากร สนค เท่านั้น อย่างไรก็ดี ทราบว่า หากต้องการเชิญบุคลากรจาก สนค เช่น ผู้อำนวยการ หรือ Staff คนอื่น ๆ ไปเป็นวิทยากร อาจติดต่อทาบทามได้ครับ อาจติดต่อกับผู้อำนวยการ สนค อาจารย์สุรกิจ กมลรัตน์ โทร. 02-2150628 หรือ 02-2144150 ครับ

      นพพร

  3. ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ใช่คริสเตียน แต่ได้มีโอกาสดี้ที่ได้ไปพำนักที่ “สำนัก” แห่งนี้ประมาณ 5 ปีระหว่างไปศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเนติบัณฑิตยสภา ได้ทำกิจกรรมมากมาย เคยเป็นประธานจัดสัมมนาที่ “center” ก็อยู่ด้านหน้าของสำนักติดถนนพญาไท มีวิทยากรเด่น ๆ เช่น มรว.เสนีย์ ปราโมทย์ ดร.ถนัด คอมันทร์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นต้น ได้ “ออกค่าย” กับสมาคมนิสิตนักศึกษาสัมมนาซึ่งมีสำนักงานร่วมกันที่ “center” แห่งนี้ ผมได้พบมิตรสหายมากมาย ได้เห็นโลกกว้าง ได้สนทนากับอาจารย์ถวัล ดัชนี ศิลปินเอกซึ่งเพิ่งจบปริญญาเอกจากเยอรมัน คิดว่าได้รับ “โอกาส” ที่ดี ๆ มากมายในชีวิตคนหนุ่มคนหนึ่ง ยังจำอาจารย์เรย์ ซี ดาวน์ซึ่งทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการ” ได้ดี จบธรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนเน ฯ อาจารย์ยังฝากไปฝึกงานที่สำนักงาน ร.ท. อดุลย์ สิงหเนตร ธ.บ.
    เวลาผ่านไปกว่าสี่สิบปี ผมยังจรไปพักเป็นครั้งคราวในฐานะ “ศิษย์เก่า” เวลาจะเดินทางไปต่างประเทศหรือไปทำภาระกิจที่กรุงเทพ ฯ

  4. ผมอยากไปอยู่จังเลยครับ พอดีว่าพี่น้องในโบสถ์ คือป้าวันพร อุทัยกาญจน์กับป้าปิว เกศินี บุญยจันทรานนท์ แนะนำมา ถ้าผมมีโอกาสเข้าไปผมคิดว่าจะไปอยุ่เลย ในระหว่างศึกษาในกรุงเทพนะครับ พระเจ้าอวยพร

    • คิดว่า น่าจะติดต่อโดยตรงไปยังผู้อำนวยการ สนค. (อาจารย์สุรกิจ กมลรัตน์) หรือเจ้าหน้าที่ตรงเซ็นเตอร์ โทร. 02-2150628 หรือ 02-2144150 นะครับ

      นพพร

  5. ดิฉันเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ค่ะ เป็นคริสเตียนสังกัดสภาคริสตจักรฯ ภาคที่ 6 สมัครงานกับทางสภาคริสตจักรไว้ และกำลังจะเดินทางไปทำงานที่นั่น อยากทราบว่าทาง สนค. เค้าเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเช่าหอพักได้ไหมคะ? หรือว่าต้องเป็นนักศึกษาเท่านั้น ถ้าไม่ได้ยังไงช่วยแนะนำหอพักที่ใกล้กับตึกสภาฯ ที่พอจะสามารถเดินมาทำงานได้ให้หน่อยได้ไหมคะ เพราะไม่มีข้อมูลหรือญาติพี่น้องอยู่ กทม เลย รบกวนหน่อยนะคะ….พระเจ้าอวยพระพรค่ะ

    • เรียน คุณประภัสสร ที่นับถือ

      หากไปทำงานที่ สนค. หรือกับสภาคริสตจักรใด ๆ ในกรุงเทพฯ ตามปกติเขาจะมีที่พักให้อยู่แล้ว แต่จะเก็บเงินหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ลองติดต่อไปที่ สนค. ได้เลยครับ เพราะเขาจะให้ความสะดวกแก่เพื่อนคริสเตียนอยู่แล้วครับ (ลองติดต่อตรงที่ ผู้อำนวยการ สนค. (อาจารย์สุรกิจ กมลรัตน์) หรือเจ้าหน้าที่ตรงเซ็นเตอร์ โทร. 02-2150628 หรือ 02-2144150 นะครับ) นพพร

  6. เรียน ท่านผู้อำนวยการ สนค
    อรทัยเคยพักที่นี่ 1 ปีสมัยเป็นนักศึกษาพยาบาลที่วคต.สมัยนั้น ตอนนี้(ปี 2556)ลูกชายติดมอเกษตร วิศวะกรรมศาสตร์เครื่องกล อยากเอาลูกมาฝากให้อยู่ในความดูแลของ อาจารย์ และสนค ค่ะ ตอนนี้อยู่เชียงใหม่ค่ะ เวลาที่สะดวกควรจะให้อรทัยติดต่อได้เวลาใดได้บ้างคะ

    ขอพระเจ้าอวยพระพรค่ะ
    อรทัย ชัยวงค์

ส่งความเห็นที่ บุญทิพย์ ยกเลิกการตอบ